วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559

คุณค่าจากเรื่องมัทนะพาธา

มัทนะพาธา
ตำนานดอกกุหลาบ


เพิ่มเติมเนื้อหาลิงค์ด้านล่าง
                มัทนะพาธาแต่งเป็นบทละครพูด  เป็นศิลปะการแสดงที่เพิ่งนิยมกันในปลายรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร  ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ  พระองค์สนพระทัยละครพูดของตะวันตกมาก  โปรดการเสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงละครพูดและต่อมาก็ได้ทรงวิจารณ์การละครทรงพระราชนิพนธ์บทละคร  ทรงจัดแสดงละครตลอดจนทรงแสดงละครเอง  ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ
             เสด็จนิวัติประเทศไทยในพ.ศ.  ๒๔๔๕  ขณะทรงพระชนมายุ  ๒๒  พรรษา  ได้ทรงตั้งทวีปัญญาสโมสรขึ้นที่พระราชวังสราญรมย์  แล้วทรงสร้างโรงละครเล็กขึ้นสำหรับการแสดงละครพูดโดยเฉพาะ  เรียกว่า  โรงละครทวีปัญญา  บทละครพูดที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในระยะแรกๆ  เป็นเรื่องที่ทรงแปลแล้วดัดแปลงมาจากบทละครภาษาอังกฤษ  เช่น  เรื่องชิงนาง  หาโล่  เห็นแก่ลูก  เป็นต้น  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้อยแก้ว  ที่เป็ ร้อยกรองก็เป็นบทละครพูดคำกลอน  เช่น  พระร่วง  เวนิสวานิช  เป็นต้น  มีเพียงเรื่องเดียวที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นบทละครพูดคำฉันท์คือ  มัทนะพาธา  หรือ  ตำนานดอกกุหลาบ
             มัทนะพาธาเป็นบทละครพูดคำฉันท์ ๕ องก์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๖๖  ซึ่งเป็นช่วงที่มีพระราชกิจมาก  ขณะทรงพระประชวรและประทับอยู่  ณ  พระราชวังพญาไทต่อจากนั้นก็เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคประทับแรมตามที่ต่างๆเช่น  บางปะอิน  สุพรรณบุรี  สิงห์บุรี ลพบุรี  โดยได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องมัทนะพาธาไปด้วย  จนเมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ วันที่  ๔  ตุลาคม  ๒๔๖๖  และทรงพระราชนิพนธ์ต่อที่พระราชวังพญาไทจนจบเมื่อวันที่  ๑๘  ตุลาคม  ๒๔๖๖  ทรงใช้เวลาพระราชนิพนธ์  ๑  เดือน  ๑๗  วัน  ต่อมาในเดือนมกราคม  ๒๔๖๗  ได้ทรงแปลบทละครพูดคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธาเป็นร้อยแก้วภาษาอังกฤษพร้อมด้วยอภิธานศัพท์  เมื่อทรงแปลเสร็จในเดือนพฤษภาคม  ๒๔๖๘  ก็ได้พระราชทานแก่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรเพื่อให้พิจารณาทูลเกล้าฯ  ถวายความเห็น  พระวงศ์เธอ  กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรกราบบังคมทูลว่า  ทรงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมาก  น่าจะทรงพระราชนิพนธ์เป็น  blank  verse  (กลอนเปล่า  ซึ่งเป็นคำประพันธ์ที่กำหนดจำนวนคำโดยไม่บังคับสัมผัส  แต่เน้นจังหวะของเสียง)  ตามแบบบทละครพูดของเชคสเปียร์ได้  จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลใหม่เป็นร้อยกรองตามคำกราบบังคมทูล  แต่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ถึงกลางองค์ที่  ๔  ก็ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตเสียก่อน
              ย้อนกลับไปเมื่อครั้งจะเริ่มทรงพระราชนิพนธ์  ได้ทรงพยายามหาคำบาลีสันสกฤตสำหรับชื่อ  ดอกกุหลาบ  พระสารประเสริฐ  (ตรี  นาคะประทีป ขณะยังเป็นรองอำมาตย์โทหลวงธุรกิจภิธาน)  ค้นได้ศัพท์ภาษาสันสกฤตว่า กุพชก แต่ได้ทรงพระราชวินิจฉัยว่าถ้าจะให้เป็นชื่อนางเอกอาจต้องเปลี่ยนเสียงพยางค์หลังเป็น  กุพชกา  ซึ่งมีเสียงน่าฟัง  แต่จะไปตรงกับศัพท์ที่แปลว่า  นางค่อม  จึงทรงเลือกใช้คำว่า  มัทนา  เป็นชื่อนางเอก  มัทนา  มาจากศัพท์  มทน แปลว่า  ความลุ่มหลง  หรือ  ความรัก  นอกจากนั้นเมือทรงพบศัพท์  มัทนพาธา  จากพจนานุกรมสันสกฤตซึ่งมีความหมายว่า  ความเจ็บหรือเดือดร้อนแห่งความรัก  ซึ่งตรงกับแก่นเรื่องของบทละครเรื่องนี้  จึงทรงใช้ชื่อว่า  มัทนะพาธา  หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ
              บทละครเรื่องมัทนะพาธาได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรประกาศยกย่องให้เป็นหนังสือที่แต่งดีใช้คำฉันท์เป็นบทละครพูดซึ่งแปลกและแต่งยากเป็นเรื่องที่มีตัวละครและฉากสอดคล้องกับวัฒนธรรมภารตะโบราณ  และเข้ากับเนื้อเรื่องดี  นับว่าทรงพระปรีชาสามารถมาก  วรรณคดีสโมสรจึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายประกาศนียบัตร  เมื่อวันที่  ๑๑  พฤษภาคม  ๒๔๖๗
             มัทนะพาธามีการผูกเรื่องให้มีความขัดแย้งเป็นปมปัญหา  คือ  ให้สุเทษณ์หลงรักมัทนา  แต่มัทนาไม่รับรัก  สุเทษณ์จึงกริ้ว  บทบาทของสุเทษณ์คือ  ผู้ยิ่งใหญ่ที่เมื่อไม่ได้ดังใจเพราะรักไม่สมหวังก็โกรธแล้วลงโทษ  มัทนาจึงต้องลงมาเกิดในโลกมนุษย์เป็นการชดใช้  มัทนาพบรักกับชัยเสน  แต่ความรักก็ไม่ราบรื่นเพราะมีอุปสรรคคือ  นางจัณฑี  ความริษยาและความแค้น  ทำให้จัณฑีคิดร้ายต่อมัทนา  มัทนาจึถูกพรากไปจากชัยเสน  และได้พบสุเทษณ์อีกครั้งแต่มัทนาก็ยังไม่เปลี่ยนใจ  เรื่องจึงจบด้วยความสูญเสีย  สุเทษณ์ไม่สมหวังในความรัก ชัยนเสนสูญเสียคนรัก และมัทนาต้องเปลี่ยนสภาพมาเป็นเพียงดอกกุหลาบ
              แก่นเรื่อง  (Theme)  ของมัทนะพาธา  คือ  ความเจ็บปวดและความเดือดร้อน  เพราะความรัก  สุเทษณ์เป็นทุกข์เพราะหลงรักมัทนา  ดังคำรำพันว่า  “หากไม่สมรักก็เหมือนตายทั้งเป็น”
         จันฑีเป็นทุกข์เพราะสามีไม่รัก  มัทนาเป็นทุกข์เพราะถูกพรากจากสามี  และชัยเสนเป็นทุกข์เพราะสูญเสียนางที่รัก  เนื้อเรื่องจึงสอดคล้องกับชื่อเรื่องว่า  มัทนะพาธา  ซึ่งหมายถึงความเจ็บปวด  และความเดือดร้อน  เพราะความรักนอกจากนั้นความรักยังมีอานุภาพมากจนทำให้มนุษย์กล้าตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ  ได้โดยไม่ใคร่ครวญ
             มัทนะพาธาเป็นหนังสือที่แต่งได้โดยยาก โดยเฉพาะรูปแบบการประพันธ์  ในเรื่องนี้มีคำประพันธ์ประเภทฉันท์ชนิดต่างๆ  ถึง  ๒๑  ชนิด  ทั้งที่เป็นฉันท์ที่นิยมแต่งกันมาแต่โบราณ  เช่น  อุปชาติ  อินทรวิเชียร  วสันตดิลก  ภุชงคปยาต  เป็นต้น  และที่ไม่ค่อยปรากฏในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ  เช่น  มันทักกันตา  เมฆวิปพุชชิตา  กุสุมิตลดา  สวาคตา  เป็นต้น  ที่อยู่ในหนังสือมี  ๗  ชนิด  คือ  อินทรวิเชียรฉันท์  วสันตดิลก  วิชชุมมาลา   อินทวงศ์    สาลินี   จินตรปทา   บางตอนก็ใช้กาพย์ยานี   กาพย์ฉบัง  หรือ  กาพย์สุรางคนางค์  ซึ่งวางรูปเป็นบทสนทนา  นับว่าเป็นบทเจรจาที่ใช้คำประพันธ์ได้อย่างเป็นธรรมชาติเพราะฟังได้ราบรื่นรับช่วงกันดี  นอกจากนั้นยังมีบทเจรจาร้อยแก้วในส่วนขอตัวละครที่ไม่สำคัญเช่น  บทเจรจาระหว่างนาคกับศุน  ศิษย์ของพระกาละทรรศินในต้นองก์ที่  ๒  การใช้ลีลาภาษาที่หลากหลายอ่านได้ไม่รู้สึกเบื่อตอนใดต้อการดำเนินเรื่องรวดเร็วก็ใช้ร้อยแก้วตอนใดที่ต้องการจังหวะเสียงและความคล้องจองก็ใช้กาพย์  ตอนใดเน้นอารมณ์มาก็ใช้ฉันท์
              พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เรื่องมัทนะพาธาด้วยพระปรีชาญาณและสุตาญาณอันกว้างขวาง  พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้า  ทรงสดับตรับฟัง  และทรงวินิจฉัย  จนถ่องแท้ก่อนที่จะทรงสร้างสรรค์เป็นงานศิบปะไม่ว่าจะเป็นการที่พระราชวินิจฉัยเรื่องชื่อนางเอกหรือทรงพิจารณาโศลกอธิบายคุณสมบัติของดอกกุหลาบในคัมภีร์สันสกฤตว่า
                                    กุพฺชกะงามดังสาวรุ่น             มีดอกใหญ่  มีเกสรยิ่งทนมาก
                        สะพรั่งด้วยหนาม                                มีฝูงผึ้งเขียวเป็นกลุ่ม
                        กุพชกะมีกลิ่นหอม                              กินอร่อย  หวานมีรสเลิศ
                        ระงับตรีโทษ  เจริญราค                       เย็นสบาย  แก้โรคเช่นท้องร่วง
               พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำข้อความนี้มาเป็นคำอธิบายของมายาวินเพื่อทูลสุเทษณ์ว่ามีไม้ดอกชนิดหนึ่งที่น่าจะกำหนดให้เป็นกำเนิดของมัทนาในโลกมนุษย์
               ด้วยพระปรีชาญาณ  และพระสุตาญาณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  บทละครพูดคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธา  จึงเป็นวรรณคดีที่ทรงคุณค่าสมควรที่เราจะอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์  เพื่อให้ประจักษ์คุณค่านั้นอย่างแท้จริง 



1 ความคิดเห็น: